วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557

แบบจำลองเครือข่าย

แบบจำลองเครือข่าย
แบบจำลอง OSI มีกรอบการทำงานด้วยการแบ่งเป็นชั้นสื่อสารที่เรียกว่าเลเยอร์ (Layer) แต่ละเลเยอร์จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน รวมถึงฟังก์ชันหน้าที่ที่รับมอบหมายในเลเยอร์นั้น ๆ โดยเฉพาะ ชั้นสื่อสารต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นจะถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสื่อสารร่วมกัน ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้นด้วยกันก็คือ

ชั้นสื่อสารฟิสิคัล (Physical Layer)
ชั้นสื่อสารดาต้าลิงก์ (Data Link Layer)
ชั้นสื่อสารเน็ตเวิร์ก (Network Layer)
ชั้นสื่อสารทรานสปอร์ต (Transport Layer)
ชั้นสื่อสารเซสชั่น (Session Layer)
ชั้นสื่อสารพรีเซนเตชั่น (Presentation Layer)
ชั้นสื่อสารแอปพลิเคชั่น (Application Layer)
แต่ก็ใช่ว่าเทคโนโลยีเครือข่ายทั้งหมดจะต้องอ้างอิงชั้นสื่อสารบนแบบจำลอง OSI ครบทั้งเจ็ด เนื่องจากบางเทคโนโลยีอาจรวบชั้นสื่อสารบางชั้นมาเป็นเลเยอร์เดียวกัน หรืออาจข้ามการทำงานบางเลเยอร์กรณีเลเยอร์นั้นไม่จำเป็นต่อการใช้งาน แนวความคิดในการแบ่งชั้นสื่อสาร เพื่อลดความซ้ำซ้อน ทำให้เรียนรู้และทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพื่อให้แต่ละชั้นสื่อสารมีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนและแตกต่างกัน
เพื่อให้แต่ละชั้นสื่อสารปฏิบัติงานตามฟังก์ชันหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
จากขอบเขตความรับผิดชอบในแต่ละชั้นสื่อสาร ทำให้การสื่อสารเกิดความคล่องตัว และเป็นการป้องกันกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงบนชั้นสื่อสารหนึ่ง ๆ แล้วส่งผลกระทบต่อชั้นสื่อสารอื่น ๆ จำนวนชั้นสื่อสารจะต้องมีจำนวนมากเพียงพอ และเหมาะสมต่อการจำแนกหน้าที่การทำงานให้กับแต่ละชั้นสื่อสาร และไม่ควรมีมากจนดูเทอะทะ เกินความจำเป็น

ชั้นสื่อสารในแบบจำลอง OSI (Layers in The OSI Model)
1.ชั้นสื่อสารฟิสิคัล (Physical Layer)
ชั้นสื่อสารฟิสิคับจะทำหน้าที่ประสานการทำงานในเรื่องของการส่งกระแสบิต (Bit Stream) บนสื่อกลางที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดทางกลไก และทางไฟฟ้าของการอินเตอร์เฟซและสื่อส่งข้อมูล รวมถึงข้อกำหนดด้านฟังก์ชันการทำงาน และขั้นตอนการทำงานของอุปกรณ์ที่จะนำมาอินเตอร์เฟซเพื่อการส่งข้อมูล
2.ชั้นสื่อสารดาต้าลิงก์ (Data Link Layer)
ชั้นสื่อสารดาต้าลิงก์มีหน้าที่ส่งมอบข้อมูลในลักษณะ Hop-to-Hop (Node-to-Node) สำหรับหน่วยข้อมูลในชั้นนี้จะถูกจัดเก็บในรูปแบบของเฟรม (Frame) รับหน้าที่ว่าจะจัดส่งเฟรมไปยังเครือข่ายได้อย่างไร เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับมาจากชั้นสื่อสารฟิสิคัลนั้น อาจมีสัญญาณรบกวนหรือข้อผิดพลาดปะปนมาพร้อมกับสัญญาณข้อมูล ดังนั้นชั้นสื่อสารดาต้าลิงก์จึงต้องมีกระบวนการตรวจจับ และแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้น เพื่อบริการแก่ชั้นสื่อสารเน็ตเวิร์กที่อยู่สูงถัดไป
3.ชั้นสื่อสารเน็ตเวิร์ก (Network Layer)
สำหรับชั้นสื่อสารเน็ตเวิร์กจะรับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งแพ็กเก็ตจากต้นทางไปยังปลายทางผ่านเครือข่ายหลาย ๆ เครือข่ายด้วยกัน ความแตกต่างระหว่างชั้นสื่อสารดาต้าลิงก์และเน็ตเวิร์กก็คือ หน่วยข้อมูลบนชั้นสื่อสารเน็ตเวิร์กจะถูกแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ที่เรียกว่า แพ็กเก็ต (Packet) แต่ละแพ็กเก็ตจะถูกส่งไปยังปลายทาง ซึ่งระหว่างทางอาจมีเครือข่ายย่อยที่ลิงก์เชื่อมต่อมากมายรวมถึงการส่งข้ามเครือข่ายต่างชนิดกัน ในขณะที่ชั้นสื่อสารดาต้าลิงก์จะมีหน่วยข้อมูลในรูปแบบของเฟรม ที่จัดส่งไปยังโหนดปลายทางภายในลิงก์เดียวกันเท่านั้น
4.ชั้นสื่อสารทรานสปอร์ต (Transport Layer)
ชั้นสื่อสารทรานสปอร์ตจะทำหน้าที่ส่งมอบข้อมูลในลักษณะ Process-to-Process คำว่าโพรเซสในที่นี้ก็คือโปรแกรมประยุกต์ใด ๆ ที่รันอยู่บนเครื่องโฮสต์ ดังนั้นหากมีโปรแกรมรันอนู่บนเครื่องโฮสต์หลาย ๆ โปรแกรม นั่นหมายถึงมีหลายโปรเซสรันอยู่ในขณะนั้น โดยการส่งข้อมูลแบบ Source-to-Destination บนชั้นส่อสารเน็ตเวิร์กซึ่งปกติจะรับส่งข้อมูลเพียงโพรเซสเดียว คงไม่สามารถรองรับการส่งมอบข้อมูลหลาย ๆ โพรเซสนี้ได้ ดังนั้นชั้นสื่อสารทรานสปอร์ตจึงต้องรับหน้าที่ในการส่งมอบข้อมูลระหว่างโพรเซสจากต้นทางไปยังปลายทางได้อย่างถูกต้อง
5.ชั้นสื่อสารเซสชัน (Session Layer)
การบริการบน 3 ชั้นสื่อสารแรก (ฟิสิคัล ดาต้าลิงก์ และเน็ตเวิร์ก) อาจไม่เพียงพอสำหรับบางโพรเซส ดังนั้นชั้นสื่อสารเซสชันขึ้นไปจึงทำหน้าที่บริการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้
ชั้นสื่อสารเซสชันมีหน้าที่ควบคุมการสื่อสาร การจัดการแลกเปลี่ยนข่าวสารที่เกิดขึ้นระหว่างโฮสต์ โดยการสื่อสารที่กำลังดำเนินการอยู่ ณ ขณะใดขณะหนึ่งจะเรียกว่า เซสชัน ทั้งนี้หลาย ๆ เซสชันที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการทำงานของคนเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ตัวอย่างเช่น การล็อกอินแบบระยะไกลของเทอร์มินับเพื่อเข้าใช้บริการบนเครื่องโฮสต์ในแต่ละครั้ง ก็ถือเป็นเซสชั่นหนึ่งที่ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้

การล็อกอิน > การกรอกรหัสผ่าน > การใช้โฮสต์ > การออกจากระบบ
หรือเซสชั่นของการสนทนาที่ประกอบด้วยขั้นตอน
การเริ่มสนทนา > การสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล > การจบการสนทนา
โดยหลังจากที่ได้สร้างเซสชันเรียบร้อยแล้ว การรับส่งข้อมูลก็จะเป็นหน้าที่ของชั้นสื่อสารทรานสปอร์ต
6.ชั้นสื่อสารพรีเซสเตชัน (Presentation Layer)
เป็นชั้นสื่อสารที่นำเสนอเกี่ยวกับการแปลงข้อมูลให้มีรูปแบบและความหมายเดียวกันกล่าวคือ ระบบคอมพิวเตอร์แต่ละระดับ อาจใช้รหัสแทนข้อมูลที่แตกต่างกันได้ เช่น บนพีซีคอมพิวเตอร์ก็จะใช้รหัส ACSII หรือUnicode ในขณะที่เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ก็จะใช้รหัส EBCDIC ดังนั้นด้วยหน้าที่รับผิดชอบของชั้นสื่อสารพรีเซนเตชั่น จะทำให้ทั้งสองระบบที่ถึงแม้จะใช้รหัสแทนข้อมูลที่แตกต่างกันสามารถนำเสนอข้อมูลได้อย่างเข้าใจทั้งสองฝ่าย โดยจะมีกระบวนการแปลงข้อมูล (Translation) ให้สามารถนำเสนอได้อย่างถูกต้อง กล่าวคือ ฝั่งส่งจะส่งข้อมูลอะไรไปก็ตาม ฝั่งรับก็จะได้รับข้อมูลตามนั้นด้วย
7.ชั้นสื่อสารแอปพลิเคชัน (Application Layer) เป็นชั้นสื่อสารระดับประยุกต์ที่มุ่งเน้นการติดต่อกับผู้ใช้ที่อนุญาตให้ผู้ใช้ซึ่งอาจเป็นบุคคลหรือซอฟต์แวร์สามารถเข้าถึงเครือข่ายได้ โดยจะมียูสเซอร์อินเทอร์เฟซเพื่อสนับสนุนงานบริการต่าง ๆ เช่น การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อเครือข่ายแบบระยะไกลเพื่อเข้าถึงข้อมูลและถ่ายโอนข้อมูล การแชร์ฐานข้อมูลและการบริการอื่น ๆ เป็นต้น
แบบจำลองอินเทอร์เน็ต (Internet Model)
แบบจำลองอินเทอร์เน็ต หรือชุดโพรโทคอล TCP/IP (Transmission Control Protocol / Internet Protocol)ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาก่อนแบบบจำลอง OSI ดังนั้น ชั้นสื่อสารของแบบจำลองอินเทอร์เน็ตจึงไม่ตรงกับแบบจำลองOSI แต่ก็นับว่าเป็นความโชคดีที่แบบจำลองทั้งสองต่างก็มีหลักการทำงานที่คล้ายคลึงกันมาก
สำหรับต้นฉบับของแบบจำลองอินเทอร์เน็ต ประกอบด้วย 4 ชั้นสื่อสาร คือ
1. ชั้นสื่อสารโฮสต์ทูเน็ตเวิร์ก (Host-to-Network Layer)
2. ชั้นสื่อสารอินเทอร์เน็ต (Internet Layer)
3. ชั้นสื่อสารทรานสปอร์ต (Transport Layer)
4. ชั้นสื่อสารแอปพลิเคชั่น (Application Layer)

โดยที่ชั้นสื่อสารโฮสต์ทูเน็ตเวิร์กเป็นการรวบชั้นสื่อสารฟิสิคัลและดาต้าลิงก์เข้าด้วยกัน ชั้นสื่อสารอินเทอร์เน็ตก็คือชั้นสื่อสารเน็ตเวิร์ก และชั้นสื่อสารแอปพลิเคชั่นก็จะรวบชั้นสื่สารเซสชั่น พรีเซนเตชั่นและแอปพลิเคชั่นเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้จะอ้างอิงแบบจำลองอินเทอร์เน็ตที่ประกอบด้วย 5 ชั้นสื่อสารด้วยกันคือ ชั้นสื่อสารฟิสิคัล ดาต้าลิงก์ เน็ตเวิร์ก ทรานสปอร์ต และแอปพลิเคชั่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น